Media Download > Press Releases
สื่อมวลชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานฝ่ายสื่อสารองค์กร
โทร 0-2833 5073-8 หรือ communications@impact.co.th
อิมแพ็ค จับมือ 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำ จัดทำโครงการ ‘กล้า MICE’ เร่งพัฒนาปั้นทรัพยากรไมซ์ พร้อมจัดตั้ง ‘MICE Academy’ ตั้งเป้ารองรับนักศึกษาเข้าฝึกงาน 300 คนภายใน 5 ปี
Published : 2019-09-27
อิมแพ็ค จับมือ 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศไทย ร่วมจัดทำโครงการ “กล้า MICE” โดยมีวัตถุประสงค์ในการเสริมสร้างและเร่งพัฒนาให้มีทรัพยากรไมซ์ให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้นสำหรับการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรม พร้อมจะยังช่วยผลักดันหนุนรายได้เข้าประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยโครงการ “กล้า MICE” นี้ อิมแพ็ค ได้ร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยศิลปากร คณะวิทยาการจัดการ สาขาวิชาการจัดงานนิทรรศการและงานอีเว้นท์ เป็นโครงการนำร่องมหาวิทยาลัยแห่งแรก เพื่อให้นักศึกษาเหล่านั้นได้เรียนรู้จากงานจริง สถานที่จริง และสามารถสัมผัสกับภาพรวมของธุรกิจนี้ได้อย่างลึกซึ้งปูทางไปสู่การพัฒนาศักยภาพบุคลากรในสายงานไมซ์แบบมืออาชีพ ซึ่งหลังจากนี้แล้ว อิมแพ็ค ยังได้วางแผนต่อยอดด้วยการร่วมมือเพิ่มกับอีก 2 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ มหาวิทยาลัยศรีปทุม โดยตั้งเป้าหมายไว้ภายใน 5 ปี จะสามารถก่อตั้งให้เป็นสถาบัน “MICE Academy” เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการผลักดันรายได้จากอุตสาหกรรมไมซ์เข้าสู่ประเทศไทย
นางทมิตา จงสวัสดิ์วรกุล ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด เปิดเผยว่า “อิมแพ็ค ในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้นำด้านตลาดไมซ์ในประเทศไทยที่ได้คร่ำหวอดในอุตสาหกรรมนี้มากว่า 20 ปี จึงมีความมั่นใจว่าการที่ธุรกิจจะเติบโตอย่างต่อเนื่องได้นั้นจะต้องมาจากการมีบุคลากรที่มีคุณภาพ รวมทั้ง จากผลสำรวจของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ หรือ ทีเส็บ ที่คาดว่า ในปี 2562 ประเทศไทยจะมีนักเดินทางกลุ่มไมซ์เข้ามาสูงถึง 35.98 ล้านคน จะสร้างรายได้ให้กับประเทศกว่า 221,000 ล้านบาท แบ่งเป็นนักเดินทางไมซ์ต่างประเทศ 1,320,000 คน ทำรายได้ 100,500 ล้านบาท นักเดินทางไมซ์ในประเทศ 34,662,000 คน สร้างรายได้ 121,000 ล้านบาท ยิ่งเป็นการตอกย้ำ ให้เราเร่งวางนโยบายและวิสัยทัศน์ ในการ พัฒนาบุคลากรให้รองรับอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรม อันเป็นสิ่งสำคัญของธุรกิจไมซ์ของประเทศไทยในอนาคต”
ทั้งนี้ โครงการนำร่อง “กล้า MICE” ที่ อิมแพ็คฯ ได้เริ่มร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศิลปากรนั้น ทาง อิมแพ็ค โดยได้ลงพื้นที่จัดเวิร์ก ช็อปตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปีที่ผ่านมา เพื่อคัดเลือกนักศึกษาชั้นปีที่ 2 จำนวน 40 ราย เข้ามาฝึกงานในระหว่าง เดือน มิ.ย.-ก.ค.62 เป็นระยะเวลา 300 ชั่วโมง ส่วนในระยะต่อไป อิมแพ็ค ได้วางแผนที่จะเริ่มทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยอีก 2 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ มหาวิทยาลัยศรีปทุม โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเพิ่มจำนวนนักศึกษาที่เข้าฝึกเพิ่มขึ้น 60-80 คน และภายในระยะเวลา 5 ปี จะเพิ่มจำนวนนักศึกษาที่เข้ามาฝึกงานไม่ต่ำกว่า 300 คน นอกจากนนี้ ภายในปี 2568 จะพัฒนาให้เป็นสถาบันการศึกษาด้านธุรกิจการจัดประชุมและนิทรรศการ หรือ MICE Academy เพื่อรองรับอัตราการเติบโตของธุรกิจอุตสาหกรรมไมซ์ที่เติบโตได้อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ “อิมแพ็ค” ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นในตลาดแรงงานของคนรุ่นใหม่ เรายังได้จัดกิจกรรมแคมปัสโรดโชว์ไปตามมหาวิทยาลัย 9 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้เสริมสร้างความรู้ในธุรกิจไมซ์อย่างถูกต้อง เพราะกลุ่มตลาดแรงงานในปัจจุบันจะอยู่ในอายุระหว่าง 20-37 ปี ทั้งนี้ การจัดโรดโชว์ยังสามารถสร้างความนิยมให้ อิมแพ็ค ติดใน 1 ใน 3 ของบริษัทในประเทศที่มีคนอยากมาทำงานในที่สุด”
นางสาวจินตนา พงษ์ภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า “นอกจากจะมีการเสริมสร้างพัฒนาและเลือกเฟ้นบุคคลกรที่มีคุณภาพมาดำเนินธุรกิจสายไมซ์แล้ว ในขณะเดียวกัน อิมแพ็ค ก็ยังมุ่งมั่นดำเนินการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ให้สอดคล้องไปตามนโยบายของภาครัฐมาโดยตลอด อาทิ การพัฒนาธุรกิจไมซ์ให้ก้าวทันตามยุคสมัย 4.0 โดยที่ผ่านมา อิมแพ็ค จัดทำแอพพลิเคชั่น “IMPACT Event Calendar” โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกยิ่งขึ้นสำหรับลูกค้าหรือผู้ที่ต้องการติดตามอีเว้นท์ที่ อิมแพ็ค เมืองทองธานี
ทั้งนี้ อิมแพ็ค ยังได้เตรียมแผนพัฒนานวัตกรรมเพื่อใช้สนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมไมซ์ อาทิ เทคโนโลยีโฮโลแกรม และ เทคโนโลยีการจำลองภาพเสมือนจริง Move Around with Augmented Reality ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า และกลุ่มผู้พิการที่เดินทางมาใช้บริการ ณ อิมแพ็คเมืองทองธานี โดยทั้ง 2 นวัตกรรมนี้ได้เกิดขึ้นจากการที่ได้เข้าร่วมโครงการประกวดนวัตกรรม หรือ R2I (Routine to Innovation) ซึ่งสำนักงานฝ่ายสื่อสารองค์กรได้รับรางวัลชนะเลิศ 2 ปีซ้อน จากคณะอาจารย์ที่สอนในสาขาวิชาด้านไมซ์”